7 ทริคสำหรับคนแพ้อาหารเที่ยวต่างประเทศ
ใครว่าคนแพ้อาหารต้องอยู่แต่กับบ้าน เพราะกลัวจะไปทานอะไรแสลง หรือสื่อสารกับชาวต่างชาติไม่รู้เรื่องในกรณีฉุกเฉิน? อย่าให้ข้อจำกัดของตัวเรามาทำให้ชีวิตเซ็งจะดีกว่าครับ พี่หมีบอกเลยว่า ใครที่แพ้อาหารก็สามารถไปเที่ยวต่างประเทศได้แน่นอน เพียงแต่เพื่อนๆ จะต้องเตรียมตัวเยอะกว่าคนอื่นนิดหน่อย โดยที่จะต้องเตรียมพร้อมที่จะสื่อสารกับคนท้องถิ่นได้ถึงเรื่องอาหาร และอาการแพ้ และต้องสื่อสารให้คนรอบตัวทราบได้ว่าเพื่อนๆ กำลังเกิดเหตุฉุกเฉินแพ้อาหารขึ้นมา ในการเตรียมตัวเที่ยวต่างประเทศสำหรับคนแพ้อาหารมาฝากกัน ไปดูกันเลย
1.ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับตารางเที่ยว
ให้เพื่อนๆ ศึกษาข้อมูลให้ละเอียด ว่าจะไปพักที่ไหน มีกิจกรรมอะไรบ้าง ทานอาหารที่ไหน เพื่อนๆ จะได้เลือกถูกว่า ควรจะเลือกร้านอาหารที่ไหน ดูว่าที่โรงแรม สายการบิน หรือกิจกรรมที่ทำนั้นมี option สำหรับอาหารที่ไม่ใส่วัตถุดิบที่เพื่อนๆ แพ้หรือไม่ แล้วพยายามปรับตารางให้เข้ากับตัวเพื่อนๆ ให้มากที่สุด
2.ขอใบสั่งยาจากแพทย์
หากเพื่อนๆ ต้องไปเที่ยวต่างประเทศในที่ที่ไม่สามารถซื้อยาตามท้องถนนได้สะดวกอย่างเช่นในไทย เพื่อนๆ ก็ควรจะขอใบสั่งยาจากแพทย์ไปล่วงหน้า เพื่อที่จะได้สามารถซื้อยาได้ทันท่วงทีถ้าเกิดอาการแพ้อาหารระหว่างเที่ยวต่างประเทศ นอกจากนี้ ถ้าหากเพื่อนๆ รู้จักตัวยาแก้แพ้ที่ใช้อยู่ก็ให้ลอง search หาชื่อยาท้องถิ่นที่มีสารตัวเดียวกันในประเทศนั้นๆ ติดไว้ด้วย เวลาไปสื่อสารกับคนท้องถิ่นจะได้ซื้อยาได้ถูกตัว
3.ฝึกสื่อสารเป็นภาษาท้องถิ่น
เพื่อนๆ ควรเตรียมลิสต์คำพูดง่ายๆ เกี่ยวกับเรื่องอาการแพ้อาหารติดไปด้วยเป็นภาษาท้องถิ่นในประเทศที่จะไปเที่ยวต่างประเทศ เช่น การบอกว่าฉันแพ้อาหารชนิดนี้ ฉันกำลังแพ้อาหารอยู่ ช่วยด้วย เป็นต้น นอกจากนี้ เพื่อนๆ สามารถให้เจ้าหน้าที่ที่โรงแรมช่วยเหลือได้ เพราะเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่มักจะพูดภาษาอังกฤษได้ รวมไปถึงการใช้เครื่องมือการแปลในอินเตอร์เน็ตก็จะช่วยเพื่อนๆ สามารถสื่อสารกับคนท้องถิ่นได้ดีขึ้นเช่นกัน
4.เสิร์ชหาแพทย์ท้องถิ่นทางด้านโรคภูมิแพ้
ก่อนไปเที่ยวต่างประเทศ ก็ให้เพื่อนๆ หาดูว่าในพื้นที่นั้นๆ มีแพทย์ท้องถิ่นที่เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้บ้างหรือไม่ ให้จดชื่อเอาไว้ รวมถึงข้อมูลติดต่อเพื่อที่หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นมาจะได้สามารถไปหาหมอได้ถูกคนอย่างไม่เสียเวลา
5.ลิสต์รายชื่อโรงพยาบาลใกล้ๆ
ก่อนจะไปเที่ยวต่างประเทศดูว่าในบริเวณที่จะไปเที่ยวหรือไปพัก มีโรงพยาบาลที่ไหนอยู่ใกล้ๆ บ้าง แล้วจดเบอร์ติดต่อรถพยาบาล รวมถึงที่อยู่เอาไว้ เผื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นมาจะได้สามารถนำส่งโรงพยาบาลได้ทัน
6.นำเอาเอกสารแผนการรักษาฉุกเฉินสำหรับคนแพ้อาหารติดไปด้วย
โดยเอกสารตัวนี้จะบอกเป็นขั้นตอนว่า ถ้าหากเกิดอาการฉุกเฉินขึ้นมา เพื่อนๆ จะต้องทำอย่างไรบ้าง ทำให้เวลาที่ไปเที่ยวต่างประเทศแล้วเกิดอาการแพ้อาหารขึ้นมา คนรอบข้างจะได้มีสติและรู้ตัวว่าจะต้องทำอะไรเป็นลำดับขั้นตอนครับ นอกจากนี้ ก็อย่าลืมนำเอายาประจำตัวติดไปด้วยนะ
7.นำเอาอาหารแห้งที่ไม่แพ้ติดไปด้วย
ในกรณีที่ทานอาหารท้องถิ่นฐานไม่ได้เลยจริงๆ และไม่สามารถสื่อสารกับท้องถิ่นเรื่องการแพ้อาหารได้ ก็คงจะดีกว่าถ้าหากเพื่อนๆ ติดเอาอาหารแห้งที่ปลอดภัยไปเที่ยวต่างประเทศด้วย เช่น อาหาร และขนมต่างๆ ที่ไร้สารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เป็นต้น
ขอบคุณบทความดีดี: Govivigo
มองหาทัวร์ต่างประเทศ: ทัวร์ต่างประเทศ